ความเป็นมาโครงการ
ทางหลวงหมายเลข 117 สายนครสวรรค์ จุดผ่านแดนภูดู่เป็นทางหลวงสายหลักที่เชื่อมการขนส่งจราจรระหว่าง จ.นครสวรรค์ จ.พิจิตร จ.พิษณุโลก และเป็นทางหลวงสายรอง ระหว่าง จ.พิษณุโลก กับจ.อุตรดิตถ์ ปัจจุบันมีปริมาณจราจรสูงขึ้น จำเป็นต้องเพิ่มประสิทธิภาพทางหลวงหรือตามความเหมาะสมเพื่อเพิ่มความคล่องตัว (Mobility) ในการเดินทางขนส่งคนและสินค้าและรองรับการท่องเที่ยวในพื้นที่ ปัจจุบันแนวเส้นทางมีปริมาณการจราจรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ใช้ทางไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทาง
กรมทางหลวงจึงได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ทีแอลที คอนซัลแตนส์ จำกัด ให้ดำเนินงานบริการด้านวิศวกรรมการสำรวจและออกแบบรายละเอียด โครงการจ้างวิศวกรที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบเพิ่มประสิทธิภาพทางหลวงบนทางหลวงหมายเลข 117 ตอน ต.น้ำปาด - บ.ภูดู่ เพื่อศึกษาและออกแบบทางหลวง จากทางหลวงขนาด 2 ช่องจราจร ขยายให้มีจำนวนช่องจราจรที่เหมาะสม สอดคล้องกับปริมาณจราจรและระดับการให้บริการในอนาคต และเหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศ โครงข่ายทางหลวง พร้อมระบบระบายน้ำ สาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้องและส่วนประกอบอื่น ๆ ที่จำเป็น พร้อมทั้งศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อให้การพัฒนาโครงการ เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนประชาชนในบริเวณพื้นที่โครงการน้อยที่สุด
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพื้นที่โครงการบนทางหลวงหมายเลข 117 ต.น้ำปาด-บ.ภูดู่ (กม.343+554 ถึง กม.396+784) เบื้องต้น พบว่า แนวเส้นทางโครงการบางบริเวณอาจตัดผ่านพื้นที่ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกำหนดให้เป็นพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 2 (รูปที่ 1-1) ดังนั้น จึงเข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการ ซึ่งต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม พศ. 2566 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 141 ตอนพิเศษ 4ง วันที่ 5 มกราคม 2567 และเพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 48 แห่ง พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 และฉบับที่ 2 พ.ศ. 2561
วัตถุประสงค์ของการศึกษา
เพื่อสำรวจและออกแบบปรับปรุงและแก้ไขปัญหาการจราจรบนทางหลวงหมายเลข บนทางหลวงหมายเลข 117 ตอน ต.น้ำปาด - บ.ภูดู่ให้ได้มาตรฐานตามเกณฑ์ที่กรมทางหลวงกำหนด ถูกต้องตามหลักวิศวกรรม สอดคล้องกับสภาพสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม
เพื่อศึกษา รวบรวม วิเคราะห์สภาพแวดล้อมในปัจจุบัน ปริมาณจราจร และดำเนินการประเมินผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นเนื่องจากการพัฒนาโครงการ พร้อมทั้งเสนอแนะมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม มาตรการติดตามคุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมทั้งแผนการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น และข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาโครงการ รวมทั้งสร้างความสัมพันธ์อันดีกับชุมชน เจ้าหน้าที่ภาครัฐ องค์กรเอกชน และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง
ขอบเขตของงาน
งานศึกษาด้านเศรษฐกิจและสังคม
งานศึกษาด้านเศรษฐกิจและสังคมมีวัตถุประสงค์ดังนี้
• เพื่อทำความเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างการดำเนินโครงการจ้างวิศวกรที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบเพิ่มประสิทธิภาพทางหลวงบนทางหลวงหมายเลข 117 ตอน ต.น้ำปาด - บ.ภูดู่ กับแผนยุทธศาสตร์ แผนการพัฒนา และนโยบายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาคที่เกี่ยวข้อง และระดับจังหวัดพื้นที่ศึกษา ตลอดจนพิจารณาถึงประเด็นความสอดคล้องในการดำเนินโครงการฯ
• เพื่อศึกษา สำรวจ และวิเคราะห์ข้อมูลด้านเศรษฐกิจและสังคมต่าง ๆ เพื่อทำความเข้าใจถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจและสังคมบนพื้นที่ศึกษาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
• เพื่อศึกษาและวิเคราะห์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมบนพื้นที่ศึกษาในปีอนาคต ซึ่งจะถูกนำไปใช้ประกอบการคาดการณ์ปริมาณจราจรและการขนส่งในอนาคต
โดยพื้นที่ศึกษาของโครงการ ประกอบด้วย พื้นที่โครงการ คือ จังหวัดอุตรดิตถ์ และพื้นที่อิทธิพล คือ จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดสุโขทัย จังหวัดน่าน และจังหวัดแพร่ โดยการศึกษาในส่วนนี้จะเน้นการฉายภาพสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมตั้งแต่ระดับประเทศ ระดับภูมิภาคที่เกี่ยวข้อง และระดับจังหวัดพื้นที่ศึกษา
ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอนหลัก ได้แก่
(1) การทบทวนแผนยุทธศาสตร์และนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
(2) การศึกษา สำรวจ และวิเคราะห์ข้อมูลด้านเศรษฐกิจและสังคม
(3) การศึกษาและวิเคราะห์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงสภาพทางเศรษฐกิจและสังคม
งานวิเคราะห์โครงการด้านเศรษฐศาสตร์
งานวิเคราะห์โครงการด้านเศรษฐศาสตร์ เพื่อการประเมินความเหมาะสมของโครงการว่ามีความเหมาะสมในการดำเนินการหรือไม่ เมื่อเปรียบเทียบระหว่างทรัพยากรที่ต้องใช้ไปในการดำเนินโครงการกับผลประโยชน์ด้านการจราจรที่สังคมจะได้รับ หากโครงการมีความเหมาะสมก็จะได้รับการเสนออนุมัติให้มีการดำเนินการก่อสร้างต่อไป
แนวทางการศึกษาจะพิจารณาข้อแตกต่างของโครงการระหว่าง “กรณีที่ไม่มีโครงการ” ซึ่งหมายถึงกรณีที่เป็นสภาพปัจจุบันที่ยังไม่มีการลงทุนเพื่อดำเนินการโครงการ และ “กรณีที่มีโครงการ” ซึ่งหมายถึง กรณีที่มีการลงทุนเพื่อดำเนินการก่อสร้าง และเปิดให้บริการ โดยใช้วิธี Cost-benefit analysis ซึ่งเป็นวิธีการนำต้นทุน และผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นตลอดอายุโครงการมาวิเคราะห์เปรียบเทียบหาดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจ เพื่อนำไปพิจารณาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจของโครงการ โดยจะมีการวิเคราะห์ด้านต่างๆ ดังนี้
1) การประเมินค่าใช้จ่ายของโครงการ
2) การประเมินผลประโยชน์ของโครงการ
3) การวิเคราะห์ความคุ้มค่า
4) การวิเคราะห์ความอ่อนไหว
งานสำรวจและคาดการณ์ปริมาณจราจร และวิเคราะห์ระดับการให้บริการ
งานสำรวจและคาดการณ์ปริมาณจราจร และวิเคราะห์ระดับการให้บริการ เพื่อศึกษาและวิเคราะห์ด้านการจราจรและขนส่งของโครงการโดยจะรวบรวบข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการ เช่น ข้อมูลด้านเศรษฐกิจ-สังคมและข้อมูลด้านการจราจรทั้งในอดีตและปัจจุบัน และนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ประกอบในการปรับปรุงแบบจำลองการจราจรและขนส่ง เพื่อใช้แบบจำลองดังกล่าวในการคาดการณ์ปริมาณการจราจรและขนส่งบริเวณพื้นที่ศึกษาในอนาคต แล้วนำผลมาวิเคราะห์เพื่อนำไปใช้ประกอบในการออกแบบและงานศึกษาในส่วนต่างๆ ต่อไป
งานสำรวจแนวทางและระดับ
งานสำรวจรายละเอียดภูมิประเทศ สำรวจแนวทาง สำรวจระดับ ทำรูปตัดตามยาวรูปตัดตามขวาง และเส้นชั้นความสูง สำรวจรายละเอียดสองข้างทาง สำรวจทางแยก และย่านชุมชน สำรวจรายละเอียดสิ่งก่อสร้าง สาธารณูปโภค สาธารณูปการ ร่องน้ำ ระดับน้ำ ข้อมูลทางอุทกวิทยา ข้อมูลการสัญจรทางน้ำในลำน้ำ รวมถึงรายละเอียดที่จำเป็นต่อการดำเนินงานด้านจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และรายละเอียดอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการออกแบบ โดยจะดำเนินการสำรวจตามมาตรฐานสากลที่ทันสมัย และมาตรฐานกรมทางหลวง แล้วจัดทำแบบสำรวจในรูป Drawing Files, Digital Files และ CAD Files ซึ่งมี Data Structure ที่เป็นระบบ และเป็นรูปแบบที่สามารถนำไปใช้งานต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ
งานตรวจสอบดินและวัสดุ
งานสำรวจประกอบด้วยการรวบรวมข้อมูลสภาพทางธรณีวิทยา สำรวจตรวจสอบคุณสมบัติชั้นดินเดิม ชั้นดินฐานราก วัสดุโครงสร้างชั้นทางถนนเดิมและแหล่งวัสดุ พร้อมทั้งตรวจสอบคุณสมบัติของวัสดุที่จำเป็นสำหรับการออกแบบรายละเอียดของทางหลวงและโครงสร้างต่างๆ เพื่อเสนอแนะวิธีการออกแบบและก่อสร้างที่เหมาะสมต่อไป
งานออกแบบรายละเอียดงานทาง
ดำเนินการออกแบบรายละเอียดงานทางในด้านต่างๆ ได้แก่ การออกแบบแนวทาง แนวระดับรูปตัด ทางแยก ทางขนาน ทางข้าม ทางลอด เครื่องหมายและป้ายจราจร รวมถึงงานระบบอำนวยความปลอดภัย การจัดการจราจรระหว่างการก่อสร้าง สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ และงานอื่นๆ ที่จำเป็น โดยการออกแบบจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานของกรมทางหลวงและมาตรฐานสากลที่ทันสมัย
งานออกแบบรายละเอียดทางแยก
การออกแบบรายละเอียดทางแยก โดยกำหนดประเภทของทางแยก ณ จุดตัดระหว่างถนนนั้น จะพิจารณาจาก ลำดับชั้นของถนน (Hierarchy) ที่ตัดกัน ลักษณะพื้นที่บริเวณจุดตัด ปริมาณจราจรบนถนน และสถิติการเกิดอุบัติเหตุ เป็นต้น โดยในการศึกษานี้ได้กำหนดเกณฑ์ที่ใช้ในการกำหนดประเภททางแยกที่จุดตัดระหว่างถนนโครงการและถนนต่าง ๆ ภายในพื้นที่ โดยจะพิจารณาจากลำดับชั้นของถนน (Hierarchy) และปริมาณจราจรของถนนบริเวณทางแยก จากข้อแนะนำในการกำหนดประเภททางแยกของ COBA (Cost Benefit Analysis vol.13, Design Manual for Roads and Bridges Department of Transport,1996) (โดยข้อแนะนำดังกล่าวหน่วยงานราชการ เช่น กรมทางหลวงฯ ได้นำมาเป็นข้อแนะนำในการกำหนดประเภทของทางแยก) ซึ่งจะพิจารณาจากลำดับชั้นของถนนในรูปแบบประเภทถนน (Class of road) และปริมาณจราจรในรูปจำนวนช่องจราจร (Number of lane)
งานออกแบบโครงสร้างชั้นทาง วิเคราะห์เสถียรภาพและการทรุดตัวของคันทาง
1) งานออกแบบโครงสร้างชั้นทาง จะออกแบบเพื่อรองรับน้ำหนักและปริมาณการจราจร โดยอายุการออกแบบโครงสร้างชั้นทางแบบยืดหยุ่น (Flexible Pavement) และแบบแข็ง (Rigid Pavement) ต้องไม่น้อยกว่า 20 ปี โดยจะต้องทำการออกแบบแนวความคิดอย่างน้อย 3 รูปแบบเพื่อจัดทำ Life Cycle Cost Analysis เพื่อเลือกประเภทโครงสร้างชั้นทางที่เหมาะสมครอบคลุมในด้านค่าก่อสร้าง ค่าบูรณะ ค่าบำรุงรักษา ค่าใช้จ่ายของผู้ใช้ถนน ค่าใช้จ่ายทางสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
2) การวิเคราะห์เสถียรภาพและการทรุดตัวของคันทาง เป็นการวิเคราะห์เสถียรภาพความมั่นคงและการทรุดตัวของคันทาง โดยจะออกแบบให้มีความแข็งแรงปลอดภัยตามมาตรฐานการออกแบบของกรมทางหลวง หรือมาตรฐานสากลอื่นๆ และมีการซ่อมบำรุงระหว่างการเปิดใช้งานให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้
งานออกแบบโครงสร้างสะพาน โครงสร้างทางแยกต่างระดับ อาคารระบายน้ำ ระบบป้องกันตลิ่ง และโครงสร้างอื่นๆ
งานออกแบบโครงสร้างสะพาน โครงสร้างทางแยกต่างระดับ อาคารระบายน้ำ ระบบป้องกันตลิ่ง และโครงสร้างอื่นๆ ที่ปรึกษาจะใช้มาตรฐาน AASHTO LRFD SPECIFICATION ฉบับล่าสุด มาตรฐานและข้อกำหนด ของกรมทางหลวง มาตรฐานการการออกแบบอาคารต้านทานการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว (มยผ.1302) และมาตรฐานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ที่ปรึกษาจะใช้น้ำหนักจรของ HL-93 และน้ำหนักตามประกาศของผู้อำนวยการทางหลวง รวมทั้งพิจารณาแรงกระทำที่มีผลตามสภาพพื้นที่ ได้แก่ แรงที่เกิดจากแผ่นดินไหว แรงลม และแรงที่เกิดจากกระแสน้ำ แรงที่เกิดจากความดันดิน และแรงจากการชนกัน โดยจะพิจารณาออกแบบให้เหมาะสมตามสภาพพื้นที่โครงการ และเป็นไปตามข้อกำหนด กฎหมาย หรือมาตรฐานที่เกี่ยวข้องฉบับล่าสุด ยกเว้นในกรณีที่มีขยายโครงสร้างเดิมโดยเชื่อมต่อโครงสร้างเป็นเนื้อเดียวกัน
งานระบบระบายน้ำ
งานศึกษาด้านระบายน้ำ ประกอบด้วย 2 ส่วนงาน
1) การศึกษาวิเคราะห์ด้านอุทกวิทยา เป็นการรวบรวมข้อมูลทั่วไปด้านอุทกวิทยาของพื้นที่รับน้ำ ได้แก่ สภาพลุ่มน้ำ ลำน้ำ น้ำฝน น้ำท่า น้ำใต้ดิน การใช้ประโยชน์ที่ดิน อาคารระบายน้ำ อุทกภัยในอดีต ฯลฯ เพื่อนำมาพิจารณาคำนวณค่าอัตราการไหลน้ำท่าสูงสุดของพื้นที่รับน้ำในโครงการและเส้นทางระบายน้ำออกจากโครงการไหลไปลงแหล่งน้ำธรรมชาติ
2) การออกแบบระบบระบายน้ำ เป็นการคำนวณด้านชลศาสตร์การไหล เพื่อออกแบบขนาดช่องเปิดโครงสร้างระบายน้ำให้เพียงพอรองรับค่าอัตราการไหลสูงสุดของพื้นที่รับน้ำ รวมทั้งการออกแบบระบายน้ำบนสะพาน
จากสภาพพื้นที่ศึกษาของโครงการ มีลำน้ำสายสำคัญไหลผ่าน ได้แก่ ห้วยเลิศ ห้วยชำอึ่ง ห้วยร่องนางเสี่ยม ห้วยกลาง ห้วยร้องนา ห้วยลึก ห้วยฮิ้น คลองสูน แม่น้ำปาด ห้วยช้างโทน ห้วยขุ่น ห้วยบ่อตูม ห้วยวานหว้า และห้วยข้าวหลาม
งานระบบไฟฟ้า
การออกแบบรายละเอียดและข้อกำหนดของระบบวงจรไฟฟ้าและวิธีการติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับงานทางของโครงการ เป็นไปตามหลักวิศวกรรมไฟฟ้าและวิศวกรรมการทาง โดยคำนึงถึงวิธีการก่อสร้าง การป้องกันการโจรกรรมและอื่นๆ ที่เห็นว่าสมควร โดยการออกแบบยึดถือตามมาตรฐานกรมทางหลวงและมาตรฐานสากล งานระบบไฟฟ้าประกอบด้วย
1) งานออกแบบระบบไฟฟ้าส่องสว่าง
2) งานออกแบบสัญญาณไฟจราจร
3) งานออกแบบระบบสื่อสาร (ถ้ามี)
งานสถาปัตยกรรม
งานออกแบบงานภูมิสถาปัตย์งานทาง โดยภาพรวมจะเป็นการออกแบบภูมิทัศน์ตามสายทาง โดยมีขอบเขตที่ถูกกำหนดไว้อย่างชัดเจนตามแนวเขตทาง ส่วนทางเท้าจะถูกออกแบบในบริเวณที่ถนนตัดผ่านชุมชนโดยการกำหนดขนาดทางเท้าจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานกรมทางหลวง ซึ่งการออกแบบภูมิทัศน์ทางกายภาพจะออกแบบโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ใช้ถนนสัญจรและผู้ใช้ทางเท้า และจะต้องอำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการ
งานด้านสิ่งสาธารณูปโภค
ดำเนินการติดต่อประสานงานตรวจสอบหาข้อมูลสิ่งสาธารณูปโภคต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมเสนอแนะรูปแบบตำแหน่งสิ่งสาธารณูปโภคต่างๆ ภายในเขตทาง โดยกำหนดไว้ในแบบก่อสร้างเพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคในการดำเนินการก่อสร้างทาง และระบบการคมนาคมขนส่งอื่นๆ ภายในเขตทางทั้งในปัจจุบันและอนาคต
งานดำเนินการทางด้านสิ่งแวดล้อม
งานดำเนินการทางด้านสิ่งแวดล้อมเป็นการศึกษาถึงผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการพัฒนาโครงการ และนำเสนอมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยมีขอบเขตของการศึกษาจะประกอบด้วยการดำเนินงาน 2 ส่วนหลัก คือ การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (Initial Environmental Examination ; IEE) และการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมขั้นรายละเอียด (Environmental Impact Assessment ; EIA)
การมีส่วนร่วมของประชาชน
กรมทางหลวงได้กำหนดให้มีการจัดกิจกรรมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ระยะเริ่มต้นจนถึงสิ้นสุดโครงการ โดยมุ่งเน้นการให้ข้อมูลข่าวสารแก่กลุ่มเป้าหมายอย่างชัดเจน และมีความโปร่งใส เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายมีโอกาสรับทราบข้อมูลความคืบหน้าของโครงการ และร่วมกันแสดงความคิดเห็นให้ข้อเสนอแนะหรือแสดงความวิตกกังวลใจได้ในทุกขั้นตอนการศึกษา
งานคำนวณปริมาณงานก่อสร้าง
การประมาณราคา เป็นการคำนวณหามูลค่าการลงทุน และค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการ โดยอาศัยหลักวิชาวิศวกรรม ราคาวัสดุก่อสร้างที่ปรึกษาจะใช้จากประกาศกระทรวงพาณิชย์ประจำจังหวัดอุตรดิตถ์ และกรุงเทพมหานคร ราคาวัสดุจากแหล่งผลิตและราคาวัสดุผลิตภัณฑ์อื่นๆ จากใบเสนอราคาที่เป็นปัจจุบัน เพื่อนำมาคำนวณหาต้นทุนในการดำเนินโครงการให้ได้ราคาต้นทุนที่มีความใกล้เคียงและถูกต้องแม่นยำ โดย การคำนวณปริมาณงานจะใช้หน่วยวัดตามมาตรฐานของกรมทางหลวงในการวัดปริมาณงาน มาจัดทำการคำนวณปริมาณงานในแต่ละรายการตามบัญชีแสดงปริมาณงานอย่างละเอียดการประมาณราคาค่าใช้จ่ายของโครงการฯ การประมาณราคาค่าก่อสร้างโครงการดำเนินการโดยจัดเตรียมบัญชีปริมาณงาน (Bill of Quantities) จัดให้มีลำดับและหน่วยวัดตามมาตรฐานของกรมทางหลวงเป็นหลัก
งานวิเคราะห์แผนการดำเนินงานโครงการ
จัดทำแผนการดำเนินโครงการเป็นระยะๆ (Development Phase) โดยจะต้องพิจารณาความเป็นไปได้ และความคุ้มค่าทางด้านเศรษฐศาสตร์ของการดำเนินโครงการ เพื่อจัดลำดับความสำคัญในการพัฒนาโครงการเป็นระยะๆ พร้อมจัดเตรียมรายละเอียดปริมาณงานก่อสร้างและการประมาณราคาโดยคำนึงถึงระยะเวลาในการพัฒนาแต่ละระยะ
งานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน
ดำเนินการสำรวจปริมาณและประเมินราคาทรัพย์สินที่ถูกเขตทาง เพื่อประกอบการเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาและจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน (เวนคืน) ขั้นเบื้องต้น โดยรายละเอียดของงานประกอบด้วย
1) จัดทำแผนที่ประกอบร่างพระราชกฤษฎีกา
2) การกำหนดตำแหน่งเขตทาง
3) ประมาณจำนวนและราคาทรัพย์สินที่ถูกเขตทาง
4) การจัดทำเอกสารหลักฐาน
การถ่ายทอดเทคโนโลยี
เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อกรมทางหลวง ที่ปรึกษายินดีที่จะร่วมกับสำนักสำรวจและออกแบบในการจัดทำโครงการหรือพัฒนาระบบงานหรือนวัตกรรม ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการทำงานของกรมทางหลวง พร้อมถ่ายทอดความรู้ หรือจัดศึกษาดูงานพร้อมถ่ายทอดความรู้ในลักษณะงานที่เกี่ยวข้องตามความเหมาะสม